โลกกว้าง-การแพทย์
นพ. สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์
สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คนไทยป่วยและตายจากโรคเบาหวานมากที่สุดโรคหนึ่ง โดยเฉพาะวัยหลังเกษียณ 10 ปี (ปี พ.ศ. 2552 คนไทยช่วงอายุ 60-68 ปี เป็นเบาหวานร้อยละ 16.7) และคนที่เป็นโรคฯ น้อยลงไปเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น (อายุมากกว่า 80 ปี เป็นเบาหวานร้อยละ 11.5) เพราะคนที่เป็นเบาหวาน อายุไม่ยืนยาวเท่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน สัดส่วนคนที่ไม่เป็นเบาหวานจึงเพิ่มขึ้น สัดส่วนคนที่เป็นเบาหวานจึงลดลง ตามอายุที่มากขึ้น
ดังนั้น การรักษาเบาหวานเพื่อป้องกันการตายและพิการจากเบาหวาน จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการให้คนที่เป็นเบาหวานอายุยืนยาวอย่างมีความสุข
แต่…สิ่งแรกที่ผู้ป่วยเบาหวานและแพทย์ผู้รักษาเบาหวาน มักจะคิดถึงก่อนเมื่อเป็นเบาหวาน หรือพบผู้ป่วยเบาหวาน คือ กินยาอะไรดี จะมีสักกี่คนที่ถามว่า ทำไมเป็นเบาหวาน และจะดูแลตนเองอย่างไร เพราะเรามักจะเชื่อว่า ถ้าเป็นเบาหวานแล้วกินยาดีที่สุด
“ยาเบาหวานดีที่สุด มีประโยชน์หรือโทษ ยังบอกไม่ได้ชัดเจน”
(Boussageon R, Supper I, Bejan-Angoulvant T, Kellou N, Cucherat M, et al. (2012) Reappraisal of Metformin Efficacy in the Treatment of Type 2 Diabetes:A Meta Analysis of Randomised Controlled Trials, PLoS Med 9(4): e1001204, oi:10.1371/journal.pmed.10111204,)
ยาเบาหวานอันดับแรก (First line drug) ที่แพทย์ทั่วโลกแนะนำให้กับผู้ป่วยเบาหวาน คือ ยาเมตฟอร์มิน (metformin) เพราะมีประสิทธิภาพในการลดน้ำตาลได้ดี ผลข้างเคียงเรื่องน้ำตาลต่ำน้อย ไม่เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็ง กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจล้มเหลว เหมือนยาเบาหวานตัวอื่นๆ แต่ยาเมตฟอร์มินจะลดการตายจากทุกสาเหตุหรือการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่ง กินแล้วทำให้ผู้ป่วยเบาหวานอายุยืนยาวหรือไม่
จากการรวบรวมการศึกษาแบบสุ่มและควบคุม เกี่ยวกับผลของการให้ยาเมตฟอร์มินในผู้ป่วยเบาหวานต่อการตาย และการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เทียบกับผู้ป่วยที่ควบคุมอาหารอย่างเดียว หรือกินยาหลอก หรือไม่ได้รับการรักษา หรือร่วมกับยาอื่น ได้การศึกษาคุณภาพดีมาก 13 การศึกษา ผู้ป่วยเบาหวานที่กินยาเมตฟอร์มิน 9,500 กว่าคน กับผู้ป่วยกลุ่มเปรียบเทียบ 3,500 กว่าคน พบว่า ยาเมตฟอร์มินไม่ได้ช่วยลดโอกาสการตายทุกสาเหตุ ไม่ได้ช่วยลดโอกาสการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
นอกจากนี้ ยาเมตฟอร์มินยังไม่ลดโอกาสกล้ามเนื้อหัวใจตาย ไม่ลดโอกาสเป็นอัมพาต ไม่ลดโอกาสหัวใจล้มเหลว ไม่ลดโอกาสโรคหลอดเลือดส่วนปลาย การถูกตัดขา และโรคไต
เนื่องจากการศึกษามีความต่างกันมากในประชากรที่เข้าร่วม และวิธีการศึกษา ข้อสรุปของการศึกษานี้คือ ประโยชน์หรือโทษของการใช้ยาเมตฟอร์มินในผู้ป่วยเบาหวานยังสรุปไม่ได้ชัดเจน
: ไม่สามารถจะบอกได้ว่า ยาเมตฟอร์มินลดการตายร้อยละ 25 หรือเพิ่มการตายร้อยละ 31
: บอกไม่ได้ว่ายาเมตฟอร์มินลดการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดร้อยละ 33 หรือเพิ่มการตายร้อยละ 64
ดังนั้น การกินยาเบาหวานอย่างเดียว ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะยังไม่รู้ว่า กินไปแล้วจะได้ประโยชน์ หรือมีโทษหรือไม่
“การเดินลดการตายในผู้ป่วยเบาหวาน….แน่นอน (กว่า)”
(Sluik D, Buijsse B, Muckelbauer R, Kaaks R, Teucher B, Johnsen NF et al. Psysical Activity and Mortality in Individuals With Diabetes Mellitus. A Prospective Study and Meta-analysis. Arch Intern Med 2012;doi:10.1001/archinternmed.2012.3130)
ก่อนหน้านี้ มีการศึกษาโปรแกรมป้องกันโรคเบาหวาน (Diabetes Prevention Program or DPP studies) ที่แสดงให้เห็นว่า การกินยาเมตฟอร์มิน สู้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (การเคลื่อนไหวออกแรง มีกิจกรรมทางกายปานกลาง เช่น เดินเร็ว อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และลดน้ำหนักได้ร้อยละ 7 ในระยะเวลา 6 เดือน) ไม่ได้ ในการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในเวลา 4-5 ปี กล่าวคือ กลุ่มกินยาลดโอกาสเป็นเบาหวานได้ร้อยละ 31 ส่วนกลุ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดได้ร้อยละ 58 ซึ่งผลดังกล่าวมีติดต่อกันไปถึง 10 ปี แต่เมื่อเป็นเบาหวานแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะช่วยผู้ป่วยเบาหวานได้หรือไม่
การศึกษาอาหารและมะเร็งในประเทศยุโรป (European Prospective Investigation into Cancer and Nutrition or EPC study) ซึ่งเป็นการศึกษาไปข้างหน้าในชาวยุโรปที่เป็นเบาหวาน 5,800 กว่าคน พบว่า การเดิน 4.6-9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เมื่อเทียบกับกลุ่มที่เดินน้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ลดการตายจากทุกสาเหตุร้อยละ 24 ลดการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดร้อยละ 56
จากการรวบรวมการศึกษาไปข้างหน้าคุณภาพดี เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวออกแรง มีกิจกรรมทางกายกับการตายในผู้ป่วยเบาหวานอื่นอีก 4 การศึกษา พบวา การเดินลดการตายจากทุกสาเหตุและการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน เทียบกับกลุ่มที่เดินน้อยที่สุด ผู้ป่วยเบาหวานที่เดินมากที่สุด โอกาสตายจากทุกสาเหตุลดลงร้อยละ 32 และลดโอกาสตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดร้อยละ 41
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้เวลาว่าง มีกิจกรรมทางกาย เคลื่อนไหวออกแรง เช่น ทำงานบ้าน ทำสวนครัว ก็ช่วยลดโอกาสการตายจากทุกสาเหตุและการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นเดียวกัน กล่าวคือ กลุ่มที่ใช้เวลาว่างมีกิจกรรมทางกายมากที่สุด ลดโอกาสการตายและตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดร้อยละ 36 เท่ากัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายน้อยที่สุด
ผู้ป่วยเบาหวานควรจะเดินวันละเท่าไร จึงจะช่วยให้อายุยืนขึ้น จากการศึกษาที่ใช้ชื่อว่า Rancho Bernardo study สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2550 (Smith TC. J ClinEpidermal 2002;60.309-17) เป็นการศึกษาคุณภาพดีที่สุดจาก 12 การศึกษาไปข้างหน้าที่รวบรวมมา พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่เดินมากกว่า 1 ไมล์ (1,600 เมตร หรือ 4 รอบสนามฟุตบอลต่อวัน มีโอกาสตายน้อยกว่ากลุ่มที่เดินน้อยกว่า 1 ไมล์ต่อวัน
ดังนั้น การให้ผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เดินวันละอย่างน้อย 4 รอบสนามฟุตบอล น่าจะช่วยให้อายุยืนยาวขึ้นกว่าการกินยาเบาหวานอย่างเดียว
การศึกษาการกินยาและการเดินในผู้ป่วยเบาหวานทั้ง 2 การศึกษา ช่วยสนับสนุนว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานกินยา (อาจจะ) ดีกว่าไม่กิน แต่ “การเดิน” (น่าจะ) ดีกว่า กินยา
ถ้าคุณเป็นเบาหวาน วันนี้คุณเดิน 4 รอบสนามฟุตบอลแล้วหรือยัง
ถ้าคุณไม่อยากเป็นเบาหวาน วันนี้คุณเดินเร็วครึ่งชั่วโมงต่อวันแล้วหรือยัง
ที่มา : หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 403 ปีที่ 34 พฤศจิกายน 2555