นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์
สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การกินข้าวกินปลา อยู่ในวัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทยมาตลอด การตรวจศพ “เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี” ที่เสียชีวิตมาแล้วไม่น้อยกว่า 3,000 ปี ขุดพบที่อำเภอพนัสนิคม จ.ชลบุรี ตรวจพบข้าวและปลาเป็นอาหารมื้อสุดท้าย เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การกินข้าวกินปลาของคนไทย ทนทานต่อการพิสูจน์ของเวลา สถานที่ และบุคคลมาตลอดหลายพันปี ไม่จำเป็นต้องให้ฝรั่งมาพิสูจน์ให้เราเห็นด้วยซ้ำว่า กินปลามีประโยชน์อย่างไร
อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางวิชาการทั่วโลกมากมาย ได้ช่วยสนับสนุนให้เห็นชัดว่า การกินปลาช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ลดโอกาสเป็นอัมพาต โดยเฉพาะในผู้หญิง และลดโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ภาพประกอบ credit : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=natcha&month=26-09-2006&group=8&gblog=10
1. กินปลาลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง
มนุษย์กินปลา (เป็นตัว) มาตั้งแต่โบราณ ประชากรที่กินปลามาก ลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยทุกๆ 1 หน่วยบริโภคต่อสัปดาห์ที่กินปลาเพิ่มขึ้น ลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจประมาณร้อยละ 4 สมาคมแพทย์หัวใจแห่งอเมริกาแนะนำให้ประชาชนทั่วไป (ที่ไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ) กินปลาหลายๆ ชนิด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 มื้อ
ภาพประกอบ credit : http://www.kruaklaibaan.com/old_forum/forum/index.php?s=78407d42030afb274327e78e5dfef032&showtopic=441
2. การกินปลาลดโอกาสหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลว มักจะเป็นผลตามมาจากความอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันและภาวะแทรกซ้อนจากความดันเลือดสูง ซึ่งพบได้มากขึ้น ตามจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นทุกปี ภาวะดังกล่าวเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตมากขึ้นร้อยละ 20-50
การศึกษาที่ผ่านมายังบอกไม่ได้ชัดเจนว่า การกินปลาหรืออาหารที่มีโอเมก้า 3 (ไขมันปลา สาหร่าย อาหารทะเล) จะช่วยลดโอกาสเป็นหัวใจล้มเหลวหรือไม่ แต่จากการรวบรวมการศึกษาแบบ systematic review จากฐานข้อมูลทางการแพทย์จนถึงเดือนสิงหาคม 2554 ได้การศึกษาคุณภาพดี 7 การศึกษา โดยพบว่า กลุ่มประชากรที่กินปลามากที่สุด (เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินน้อย หรือไม่ได้กินเลย) ลดโอกาสเกิดหัวใจล้มเหลวร้อยละ 15 หลังจากปรับปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องแล้ว
ภาพประกอบ credit : http://www.baby2talk.com/forum/index.php?topic=759.0
3. การกินปลาช่วยลดโอกาสเป็นอัมพาต
โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นสาเหตุความพิการและการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย และเป็นภาระโรคที่ตามมากับผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมเป็นอย่างมากในระยะยาว
เมื่อเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตันเฉียบพลัน การรักษาต้องรีบให้ยาละลายลิ่มเลือดในเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง มิฉะนั้นมักจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตไปตลอดชีวิต แต่การรักษาวิธีดังกล่าวก็ไม่ได้ผลเต็มร้อยเสมอไป การป้องกันไม่ให้เป็นโรคดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการรักษาเมื่อเกิดโรคแล้ว
การกินปลามีข้อมูลหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนจำนวนมากว่าช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ โดยการรวบรวมบทความทางวิชาการแบบ systematic review ในฐานข้อมูลทางการแพทย์จนถึงเดือนเมษายน 2554 ได้การศึกษาคุณภาพดี 19 การศึกษา โดยพบว่ากลุ่มประชากรที่กินปลา เมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้กินปลาหรือกินปลาน้อยกว่า 1 มื้อต่อเดือน ในประชากรชาวเอเซีย การกินปลา 1-4 มื้อต่อสัปดาห์ ช่วยลดโอกาสโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะหลอดเลือดสมองตีบตันได้ร้อยละ 9-19 แต่การกินปลามากกว่านี้ (มากกว่า 5 มื้อต่อสัปดาห์) กลับไม่ช่วยลดโอกาสเกิดโรคดังกล่าว
ภาพประกอบ credit : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=jazzy-bong&month=04-06-2010&group=20&gblog=5
4. การกินปลาช่วยลดโอกาสอัมพาตในผู้หญิง
การศึกษาไปข้างหน้าในประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่า ผู้หญิงที่กินปลาโดยเฉลี่ยมากกว่า 188 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบกับกินน้อยกว่า 57 มิลลิกรัมต่อวัน ลดโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ร้อยละ 51 หลังจากปรับค่าปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่พบความสัมพันธ์นี้ในผู้ชาย
ภาพประกอบ credit : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=354257
5. การกินปลาลดโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ทุกๆ ปี ประชากรมากกว่า 1 ล้านคนเจ็บป่วย และมากกว่า 6 แสน 5 หมื่นคน ตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งเป็นสาเหตุการตายจากมะเร็งอันดับ 3 ของประเทศทางซีกโลกตะวันตก และเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 ในชายไทย อันดับ 4 ในหญิงไทย
พ.ศ. 2554 คนไทยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ประมาณ 1 หมื่นคน และเสียชีวิตประมาณ 5 พันคน โดยอาหารที่ผู้ป่วยกินเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
พ.ศ. 2550 กองทุนวิจัยมะเร็งโลก ได้รายงานบทบาทของการกินเนื้อแดง เนื้อปรุงแต่ง ความอ้วน และแอลกอฮอล์ เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
จากการศึกษาแบบ systematic review ในฐานข้อมูลทางการแพทย์จนถึงเดือน พฤษภาคม 2554 ได้การศึกษาไปข้างหน้า และการศึกษาแบบกลุ่มหรือเปรียบเทียบ เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการกินปลากับโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก พบว่า กลุ่มประชากรที่กินปลามากที่สุด (เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินปลาน้อยที่สุดหรือไม่ได้กิน) ลดโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักลง ร้อยละ 17 นอกจากนี้ยังพบว่า การกินปลาป้องกันมะเร็งทวารหนัก ได้มากกว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม การกินปลาไม่ช่วยลดโอกาสเสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ลดโอกาสเป็นมะเร็ง “รายใหม่” ลงร้อยละ 14 ดังนั้น การกินปลา (เป็นตัว) น่าจะช่วยลดโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
สรุปว่า การกินปลาแต่พอประมาณ (กินปลาเป็นอาหารหลัก 2-3 มื้อต่อสัปดาห์) ช่วยลดโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต (ผู้หญิงลดโอกาสได้มากกว่าผู้ชาย) และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ที่มา : บทความเรื่อง กินปลาเป็นตัว หรือ กินน้ำมันปลา เป็นเม็ด? หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 406 ปีที่ 34 กุมภาพันธ์ 2556