คุณปวีณา ปวีณาสมบัติ
เบื้องหลังความผอมของคนอ้วน

ผลงานที่ประสบผลสำเร็จมักได้รับคำชื่นชมแต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น นอกจากคำชื่นชมแล้ว ยังได้รับความสุขใจที่สามารถทำงานนั้นออกมาได้ดีเยี่ยม
คุณปวีณา ปวีณาสมบัติ อายุ 48 ปี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลบ้านโป่ง ผู้นำคนสำคัญที่นำทีมงานโรงพยาบาลบ้านโป่ง เข้าร่วมเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายจัดการโรคอ้วน ในโครงการ “รวมใจลดพุงทั่วไทย ถวายไท้องค์ราชันฯ” เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และได้รับรางวัลทีมงานโรงพยาบาลไร้พุงต้นแบบ "ดีเด่น"
ด้วยความที่เป็นพิธีกรอยู่บ่อยครั้งเวลาโรงพยาบาลมีการจัดงาน และรับผิดชอบงานต่างๆ ในโรงพยาบาลอย่างทุ่มเท ทำให้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเลขานุการคณะทำงานส่งเสริมสุขภาพด้านบุคลากร จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้มีโอกาสได้ศึกษาแนวทางและรูปแบบในการสร้างเสริมสุขภาพอย่างจริงจัง จนมาถึงอยู่ในทีมสหสาขาวิชาชีพที่ดูแลโปรแกรมควบคุมน้ำหนัก
โปรแกรมควบคุมน้ำหนักมีที่มาอย่างไร
จากนโยบาย “สร้างนำซ่อม” ของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2546 ทำให้ทุกโรงพยาบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น และได้จัดตั้งคณะทำงานส่งเสริมสุขภาพด้านบุคลากรขึ้น พอปี 2547 โชคดีมีโอกาสได้อบรมเรื่องโปรแกรมควบคุมน้ำหนัก ของ ดร.วณิชา กิจวรพัฒน์ สำนักโภชนาการ และคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง จึงได้นำมาปรับใช้ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ นักสุขศึกษา นักโภชนาการ พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คนที่น้ำหนักมากที่สุด 105 กิโลกรัม สามารถลดน้ำหนักได้ถึง 10 กิโลกรัม ในระยะเวลาเพียง 10 สัปดาห์ เป็นการจุดประกายให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเกิดการตื่นตัวว่า...เกิดอะไรขึ้น โปรแกรมนี้ลดน้ำหนักได้จริงๆ หรือ...ไม่มียาแน่นะ...ต้องอดอาหารหรือไม่ และอีกหลายคำถามที่ตามมา
โปรแกรมควบคุมน้ำหนักถือว่าได้ผลดีในระดับหนึ่ง เพราะมีผู้ที่ผ่านเข้าในโครงการสามารถลดน้ำหนักได้จริงอย่างต่อเนื่องนับร้อยรายทีเดียว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีโอกาสพัฒนาอีก เพื่อให้ทันกับวิถีชีวิตของผู้คนที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุค ตามสมัย สิ่งสำคัญคือ การทำงานเป็นทีมของสหสาขาวิชาชีพและความตั้งใจจริงของผู้รับบริการในการที่จะลดน้ำหนักอย่างต่อเนื่อง
โปรแกรมการลดน้ำหนักประกอบด้วยโปรแกรมย่อย จำนวน 7 ครั้ง โดยระยะเวลาแต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1 เดือนโดย
มีรายละเอียดดังนี้
ครั้งที่ 1 “เปิดใจสลายพุง” เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักภาวะสุขภาพของตนเอง ได้เรียนรู้แนวคิดในการดูแลตนเอง
ตามหลัก3 อ.
ครั้งที่ 2 “มุ่งมั่นปรับเปลี่ยน” เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้และเข้าใจแบบแผนพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย
ครั้งทื่ 3 “เวียนแลกอาหาร” เพื่อให้ทุกคนสามารถ คำนวณพลังงานจากอาหารที่ควรจะได้รับในแต่ละวัน และเลือกเมนูอาหารแลกเปลี่ยนได้ตามวิถีชีวิตของตน
ครั้งที่ 4 “เผาผลาญพลังงาน” เพื่อให้ทุกคนเพิ่มการออกกำลังกาย/กิจกรรมทางกาย
ครั้งที่ 5 “วานเพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อใช้กลุ่มเป็นแรงสนับสนุนในการดูแลสุขภาพกายและใจ สร้างพลังใจในการดูแลตนเองและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดูแลสุขภาพตนเอง
ครั้งที่ 6 “เดือนแห่งวิถีทาง” เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดน้ำหนักอย่างยั่งยืน
ครั้งที่ 7 “รางวัลความสำเร็จ” เพื่อให้ทุกคนได้ประเมินผลการดูแลตนเอง โดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดเปอร์เซนต์ไขมัน และตั้งเป้าหมายในการลดน้ำหนักและรอบเอวในระยะยาว
ปราบความอ้วนด้วยแรงจูงใจ
การลดน้ำหนักแน่นอนว่าต้องเจอคนไข้ที่ไม่ฟังหรือดื้อบ้าง จึงมีวิธีการชักชวน หรือพูดคุยให้คนไข้สนใจโดยการสร้างแรงจูงใจซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ จุดเริ่มต้นของการเปิดใจ รวมถึงการพบกันครั้งแรก จะสามารถบอกทิศทางได้เบื้องต้นว่า ผู้รับบริการแต่ละรายมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักหรือไม่มีผู้รับบริการรายหนึ่งบอกกับเรา “ถ้าวันนี้พี่บอกว่า กินแบบนี้สิถึงได้อ้วน จะกลับบ้านทันที”
นอกจากนี้ท่าทีที่เป็นมิตร พร้อมที่จะรับฟัง และให้คำแนะนำอย่างจริงใจ จะทำให้ผู้รับบริการเกิดความเชื่อถือ ดิฉันจะให้เบอร์โทรศัพท์มือถือกับผู้รับบริการทุกรายสามารถโทร. ปรึกษาได้ตลอดเวลา เพราะโดยธรรมชาติทุกคนก็รักตัวเอง ไม่อยากเจ็บป่วย หากเราเข้าใจเขา เขาก็จะเข้าใจเรา
ทำงานด้วยใจ
จากการที่ทำงานด้านการดูแล ร่วมทีมรักษากับแพทย์ 10 กว่าปี ประจำอยู่ที่หอผู้ป่วยพิเศษรวม ทำให้ได้มีโอกาสเห็นผู้ป่วยหลายรูปแบบ ทั้งผู้ป่วยด้าน สูติ-นรีเวช กุมารเวชกรรม ทำอย่างไร เขาเหล่านั้นถึงจะไม่ป่วย ไม่ต้องทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วย เมื่อได้มีโอกาส และได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวหน้าพยาบาล ที่ได้ส่งไปอบรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพ จึงตั้งปณิธานกับตนเองว่า จะนำความรู้ที่ไปอบรมประชุมมา 1 ครั้ง จะต้องนำมาพัฒนางาน 1 เรื่อง เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี และจะมีความสุขและปีติทุกครั้งที่เห็นผู้รับบริการมีสุขภาพที่ดีขึ้น แม้ผู้รับบริการบางราย ต้องลุ้นให้ลดน้ำหนักเป็นขีดก็ตาม
จากการทำงานตรงนี้คิดว่าตนเองได้ความสุขในการทำงาน เห็นประชาชนมีสุขภาพดี มีทีมสหสาขาวิชาชีพที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม มีโอกาสช่วยประเทศชาติประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาล แม้ว่าการลดน้ำหนักจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่เชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถที่คนคนหนึ่งจะทำได้ไม่ว่าจะเพื่อตัวเองหรือเพื่อคนที่คุณรัก หากมีความตั้งใจจริงคุณทำได้แน่นอน
ถึงวันนี้ สิ่งที่จำขึ้นใจและสัญญากับตัวเองคือการนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างสุขภาพของมวลมนุษย์ แม้ที่ผ่านมามากว่า 1,000 ราย จะประสบความสำเร็จบ้าง ไม่ประสบความสำเร็จบ้างก็ตาม แถมทำนอกเวลาราชการอีก เพราะนั่นย่อมเป็นการพิสูจน์ได้ว่า ความตั้งใจของผู้ให้บริการและความตั้งใจของผู้รับบริการ ใจส่งถึงใจ จนผู้รับบริการสัมผัสได้ถึงความเอื้ออาทรและการดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ส่งผลให้เราต่างเดินทางไปสู่เป้าหมายพร้อมๆ กันอย่างยั่งยืนตลอดไป
ที่มา : นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ ๔๑๔ ปีที่ ๓๕ ตุลาคม ๒๕๕๖