ปัญหาเรื่องโรคอ้วนเป็นปัญหาที่พบได้สูงขึ้นในทุกประเทศ โดยรายงานทั่วโลกพบได้เฉลี่ยถึง 1 ใน 5 ของประชากร ซึ่งปัญหาดังกล่าวพบได้ทุกวัย รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ ช่วงตั้งครรภ์ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่อาจทำให้เกิดโรคอ้วนตามมาหลังคลอด เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ส่วนหนึ่งจะมีความเชื่อในการเน้นการบริโภคมากๆ เผื่อลูก เพื่อให้ลูกคลอดออกมาแข็งแรงสมบูรณ์ ในขณะที่มีการออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางร่างกายลดลง เนื่องจากความกังวลต่อการกระทบกระเทือนลูกในครรภ์ จนเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน
ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม ทั้งชนิดอาหารและสัดส่วนที่พอเหมาะ รวมทั้งการเฝ้าระวังการขึ้นของน้ำหนักตัวในช่วงตั้งครรภ์ จึงเป็นส่วนที่สำคัญในการช่วยลดโอกาสการเกิดโรคอ้วนตามมาหลังคลอด
ก่อนที่จะทราบว่าการขึ้นของน้ำหนักตัวที่เหมาะสมในช่วงตั้งครรภ์ ควรเป็นอย่างไร คุณแม่ควรทำความรู้จักกับน้ำหนักตัวที่เหมาะสมก่อน โดยคำนวณจาก ดัชนีมวลกาย ซึ่งหมายถึง
น้ำหนักคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์ หารด้วย (ส่วนสูง คิดเป็นเมตร)2
ดัชนีมวลกาย จะเป็นตัวบ่งบอกภาวะน้ำหนักของคุณแม่ว่าน้อยเกินไป เหมาะสม หรือมีภาวะอ้วน ดังแสดงในตาราง
หลังจากคุณแม่ทราบว่า น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ของตัวเองจัดอยู่ในกลุ่มใด จึงมาพิจารณาน้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นในขณะตั้งครรภ์โดยเทียบตามตาราง
การเพิ่มน้ำหนักตัวของหญิงตั้งครรภ์*
หากคุณแม่น้ำหนักขึ้นน้อยหรือมากเกินไปในแต่ละเดือน ควรขอคำแนะนำจากคุณหมอที่ดูแลคุณแม่ เพื่อให้คำแนะนำ ประเมินพฤติกรรมการบริโภค และกิจวัตรประจำวันที่อาจมีผลต่อการเพิ่มของน้ำหนัก รวมทั้งประเมินการเติบโตของทารกในครรภ์ร่วมด้วย
ข้อมูลจากการศึกษาย้อนหลังโดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก สสส. ในเรื่องผลของภาวะน้ำหนักขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐานขณะตั้งครรภ์ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีดัชนีมวลกายปกติและสูงกว่าปกติต่อภาวะแทรกซ้อนในมารดาและทารก พบว่า ในกลุ่มคุณแม่ที่น้ำหนักขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐานในช่วงตั้งครรภ์ ดังตาราง จะส่งผลทำให้น้ำหนักของทารกแรกคลอดโดยเฉลี่ยสูงกว่า ในกลุ่มคุณแม่ที่น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ นอกจากนี้ยังพบว่า คุณแม่กลุ่มนี้ยังเสี่ยงต่อการใช้เวลาในการคลอดนานขึ้น และมีโอกาสคลอดโดยการผ่าตัดสูงขึ้นด้วย
ดังนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนจะตั้งครรภ์ นอกจากจะเตรียมพร้อมด้านอื่นๆแล้ว ควรให้ความสนใจในเรื่องของการเตรียมน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์และการขึ้นของน้ำหนักตัวที่เหมาะสมในช่วงตั้งครรภ์ด้วย เพื่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อย
รศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ สมประสิทธิ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน
ในชุดโครงการ “รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง”
เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย”
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)