
พูดถึงคำว่าเสพติด คนทั่วไปมักจะคิดถึงยาเสพติด การติดเหล้า ติดบุหรี่ หรือของมึนเมาต่างๆ ใครเลยจะคิดว่าอาหารที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ก็สามารถทำให้เราเกิดการเสพติดได้เช่นเดียวกัน เช่น การติดช็อกโกแลต ติดขนมหวาน ติดมันฝรั่งทอด ถั่วทอด เป็นต้น เมื่อไม่ได้กินจะเกิดความอยาก กระสับกระส่าย หงุดหงิด และเมื่อกินบางครั้งจะไม่อยากหยุดจนกว่าอาหารตรงหน้าจะหมดไป อาการเหล่านี้บางคนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะต้องนำมาใส่ใจ และไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อสุขภาพของตนเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสพติดอาหารจะส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง
จากการศึกษาพบว่าในปัจจุบันนี้โรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุงมีอัตราการเพิ่มที่สูงขึ้นและเป็นปัญหาต่อสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการเสพติดอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสพติดอาหารที่มีน้ำตาลสูงหรือการติดรสชาติหวาน การติดอาหารที่มีไขมันสูงกลุ่มอาหารทอด ขนมเบเกอรี่ และอาหารที่มีความเค็มเช่นมันฝรั่งทอด เนื้อทอด ไก่ทอด หมูปิ้ง ซอสปรุงรสต่างๆ
นักวิชาการด้านโภชนาการได้ทำการศึกษาถึงการเสพติดอาหารของคน พบว่าคนที่มีการเสพติดอาหารจะมีสารเคมีในสมองที่เปลี่ยนแปลงเหมือนคนที่เสพติดยาเสพติด โดยความหวานจะทำให้คนติดมากที่สุด รองมาคือความเค็มและความมัน เมื่อได้รับอาหารที่ตัวเองเสพติดแล้ว สารโดปามีนจะหลั่งออกมาทำให้เกิดความสุข ทำให้อารมณ์ดี ตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิทำงานได้ดีขึ้น จึงเกิดเป็นการเสพติด เพราะต้องการที่จะได้รับความสุขและทำงานได้มากขึ้น จนบางครั้งทำให้กินอาหารประเภทนั้นๆ บ่อยและมากเกินไป ผลที่ตามมาคือทำให้ได้สารอาหารบางอย่างมากเกิน เช่น พลังงานที่มากเกินกว่าความจำเป็นของร่างกาย ทำให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น และตามมาด้วยโรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่นๆ
พฤติกรรมที่บ่งบอกว่ามีการเสพติดอาหาร
• เลือกซื้ออาหารชนิดนั้นเป็นประจำสัปดาห์ละมากกว่า 3 ครั้ง
• กินอาหารชนิดนั้นมากกว่าที่วางแผนว่าจะกิน หรือกินแล้วไม่อยากหยุดกิน
• มีความอยากกินอาหารชนิดนั้นมากกว่าอาหารชนิดอื่น
• กินอาหารชนิดนั้นแม้ว่าจะไม่หิวเลยก็ตาม
• เมื่อไม่ได้กินอาหารชนิดนั้นจะทำให้จิตใจไม่เป็นสุข เกิดความหงุดหงิด อารมณ์เสียหรืออาการทางร่างกายเช่นปวดหัว
มือสั่น ใจสั่น หน้ามืด
• ขาดสมาธิเมื่อไม่ได้อาหารชนิดนั้นๆ
• หาข้ออ้างหรือเหตุผลในการกินอาหารชนิดนั้นเสมอ
แนวทางการแก้ไขการเสพติดอาหาร
• วางแผนการกินในแต่ละวันและพยายามทำให้ได้ตามแผน สามารถรับประทานอาหารที่เสพติดได้ แต่กินให้น้อยลง
และกินเฉพาะในมื้ออาหารเท่านั้น
• พยายามเลือกอาหารที่มีประโยชน์แทนที่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น หากติดการรับประทานน้ำหวาน
อาจเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นผลไม้รสหวานแทน และรับประทานผลไม้ที่ไม่หวานร่วมด้วย
• ทำการจดบันทึกพฤติกรรมการบริโภคว่าอาหาร ว่ามีความถี่ในการกินมากน้อยแค่ไหน
• ถามตัวเองก่อนที่จะกินอาหารที่เสพติดว่าต้องการจริงๆ หรือไม่ และต้องการปริมาณเท่าใดถึงจะพอ
การถามตัวเองก่อนจะช่วยลดปริมาณความอยากอาหารลงได้
• พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการซื้อหาหรือมีอาหารที่เสพติดอยู่
การเสพติดอาหารแม้ว่าจะฟังดูไม่น่ากลัวเหมือนการเสพติดอย่างอื่น แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกัน ดังนั้นหากเราสามารถที่จะลดการเสพติดอาหารโดยเฉพาะอาหารนั้นเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้แล้ว ก็จะทำให้เรามีความสุขกับการกินอาหารได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น และทำให้สุขภาพดีตามมา
ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล
อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน
ในชุดโครงการ “รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง”
เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย”
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)