หม่าล่า เมนูยอดฮิต กินอย่างไรให้สุขภาพดี๊ดี

หม่าล่า เมนูยอดฮิต กินอย่างไรให้สุขภาพดี๊ดี

22 ส.ค. 2566   ผู้เข้าชม 79

 

ปิ้งย่างหม่าล่า / ชาบูหม่าล่า / อะไรก็ๆ หม่าล่าเต็มไปหมดในเวลานี้ เคยตั้งข้อสงสัยกันไหมครับว่า ทำไมหม่าล่าถึงได้แพร่หลาย จนเกือบเรียกได้ว่า แพร่ระบาดไปทั่วขนาดนี้ วันนี้เรามาคุยเกร็ดความรู้รวมทั้งแง่ของผลต่อสุขภาพจากการกินเมนูหม่าล่ากัน ซึ่งไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันครับ

หม่าล่า คือ ? 
ที่จริงแล้ว หม่าล่า (麻辣) (ออกเสียงให้ใกล้เคียงเจ้าของภาษา จะเป็น “หม่า - ล่า”) จะหม่ายถึงรสชาติของเมนูที่ใส่เครื่องเทศนี้เข้าไป ตามความหม่ายของอักษรสองตัวว่า 麻 (má) หม่า แปลว่าชา และ 辣 (là) ล่า แปลว่าเผ็ด รวมๆ แล้วเมนูนี้จะให้รสที่ เผ็ดและชา ซึ่งทั้งสองรสนี้มาจากเครื่องเทศ “ฮวาเจียว - 花椒”  (huājiāo) หรือในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Sichuan Peppercorn 

เครื่องเทศนี้ไม่ได้มาเดี่ยว ๆ แต่เป็นการผสมผสานกันระหว่างเปลือกของเมล็ดเครื่องเทศ Sichuan peppercorn โดยเอาแค่เปลือกมาใช้ โดยบดรวมกับเครื่องเทศชนิดอื่น ได้แก่ โป๊ยกั๊ก กานพลู อบเชย เฟนเนล ขาดไม่ได้คือพริกเพื่อให้รสชาติที่เผ็ดแสบเพิ่มเติม และกลิ่นที่ขาดไม่ได้เลยคือ ยี่หร่า การผสมผสานเครื่องเทศต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสูตรเฉพาะของแต่ละครอบครัว เพราะอาจมีการใส่ส่วนผสมเครื่องเทศที่ไม่เหมือนกันก็ได้ โดยเครื่องเทศจะผ่านการคั่วหรืออบแห้งแล้วจึงนำมาบด 

โดยข้อมูลจากการสืบเสาะมา พบว่า คนเสฉวนและหยุนหนาน จะมีสูตรในการผสมเครื่องปรุงสำเร็จที่นิยมใช้โรยทำเนื้อสัตว์หรือผักปิ้งย่างนี้ว่า “หม่าล่าเฝิ่น” (málàfĕn - 麻辣粉) และทราบหรือไม่ว่า หากเราไปท่องเที่ยวในประเทศจีน แล้วถามหาร้านหม่าล่า คนพื้นที่จะไม่เข้าใจเพราะว่า คำว่า หม่าล่า จะหม่ายถึงเพียงรสชาติของอาหารเท่านั้น ซึ่งเมนูที่ปรุงให้มีรสชาติความเป็นเมนูหม่าล่านั้น จะมีชื่อเรียกเฉพาะต่างออกไป ซึ่งขอแนะนำเพื่อสื่อสารกันเข้าใจขึ้น ดังนี้ครับ

-ซาวเข่า (shāo kǎo - 燒烤) แปลความหม่ายตรงตามอักษร คือปิ้งย่าง ซึ่งจะหม่ายถึง อาหารเสียบไม้ "ย่าง" ซึ่งผู้ขายจะนำทั้งเนื้อหรือผักต่างๆ มาย่างให้สุก แล้วโรยหม่าล่าเฝิ่นตามทีหลัง เมนูเหล่านี้จะเรียกกันว่า ซาวเข่า และไม่ได้เรียกหม่าล่าอย่างที่คนไทยเรียกกัน

-หากอยากรับประทานต้ม หม้อไฟที่มีรสชาติหม่าล่า ให้เรียกว่า “หม่าล่าหั่วกัว (Málà huǒguō - 麻辣火鍋) แปลความหม่ายว่า หม้อไฟหม่าล่า เป็นหม้อไฟที่ต้มรวมเอาทั้งเนื้อ ผักและส่วนประกอบอื่นๆ รสชาติที่เด่นนำแน่นอนว่าต้องเป็น เผ็ดและชาลิ้น 

-ในจีน ยังมีเมนูที่ทำจากหม่าล่าอีกประเภท ที่อาจจะยังไม่ได้รับความนิยมในไทย คือ หม่าล่า ช่วนช่วน (Málà chuàn chuàn - 麻辣串串) ช่วนช่วนแปลว่าเสียบไม้ แล้วจุ่มในหม้อน้ำซุปรสเผ็ดชา หม่าล่าช่วนช่วน จะนับไม้ขาย แล้วคิดเงินตามจำนวนไม้ บวกด้วยค่าเปิดหม้อน้ำซุป 

-อีกเมนูหนึ่งที่อยากบอกเล่าคือ “หมาล่าทั่ง” (málàtàng - 麻辣燙) คือ น้ำซุปที่มีรสหม่าล่าที่ปรุงสำเร็จมาจากในครัวเรียบร้อยแล้ว จะมีความแตกต่างจากหม่าล่าช่วนช่วนเล็กน้อย โดยวัตถุดิบที่ใส่และเสิร์ฟมากับหม้อน้ำซุปหม่าล่าทั่ง จะไม่ได้เสียบไม้มาด้วย โดยคนจีนเขาจะให้คีบของสดมา ชั่งน้ำหนักคำนวณราคาและเตรียมลงใส่หม้อน้ำซุปได้เลย กระนั้น หากเราจะเรียกหม่าล่าช่วนช่วน ว่าหม่าล่าทั่งก็ไม่ได้ผิดกฎกติกาแต่อย่างใดครับ

ฉะนั้น หากต้องการไปลิ้มชิมรสอาหารรสหม่าล่าในจีน เราควรจะเรียกให้ตรงตามความต้องการของเราและความเข้าใจของคนพื้นที่ หากถามหาแต่หม่าล่า เกรงว่าจะไม่ได้ชิมตามที่ต้องการนะครับ

ประโยชน์ของเครื่องเทศ “หม่าล่าเฝิ่น” 
แอบน่าเศร้าที่หากเราหวังประโยชน์จากสารต่างๆ ในเครื่องเทศนี้ จะ “ไม่ได้มีผลต่อสุขภาพชัดเจน” แต่หวังได้เรื่องรสชาติและการกระตุ้นความอยากอาหาร เครื่องเทศหลากชนิดที่ผสมกันอยู่นี้ แม้จะใช้อยู่ในปริมาณที่น้อยๆ แต่ในเมล็ดเครื่องเทศเหล่านี้จะมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มาก ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการย่อยอาหารได้ดีขึ้น และลดปัญหาท้องอืดลงได้

กินเมนูหม่าล่าอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น
เมนูหม่าล่าในประเทศไทย ที่ขายกันอยู่ทั่วไปนั้นทั้งแบบร้านอาหาร และร้านค้าแผงลอย มีอาหารประเภทต่างๆ ให้ผู้บริโภคเลือกกินได้อย่างหลากหลาย ทั้งผักเสียบไม้ ไม่ว่าจะเป็น กระเจี๊ยบเขียว เห็ดเออรินจิ ข้าวโพดอ่อน บรอคโคลี่ แครอท หรืออาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ ปลา กุ้ง หมู เครื่องใน ปลาหมึก ปูอัด ไส้กรอก หรือเบคอน

สำหรับเครื่องปรุงหรือน้ำซอสนั้น หลายเจ้าจะใช้เครื่องปรุงสำเร็จที่มีการผสมเกลือเข้าไปด้วย ให้รสชาติมีมิติที่หลากหลายขึ้น นอกจากเผ็ด ชาแล้วยังมีเค็มตัดเข้ามา ซึ่งช่วยให้รสชาติอาหารโดยรวมอร่อยขึ้นได้ แต่หากบางเจ้าหนักมือไปหน่อย ก็จะทำให้ส่วนของโซเดียมเพิ่มขึ้น ต้องระวังปริมาณโซเดียมในส่วนนี้ และรสชาติเฉพาะตัวของหม่าล่า มักพบว่าผู้ขายจะขายคู่กับเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม น้ำหวานสมุนไพร หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มแอลอฮอล์  

การกินเมนูหม่าล่าให้สุขภาพดีขึ้นนั้นสามารถทำได้ด้วยหลัก 4 ข้อง่ายๆ ดังนี้

1.เลือกรับประทานเมนูเนื้อสัตว์แบบไม่ติดมัน เช่น อกไก่ กุ้ง สันในหมู ปลา  หลีกเลี่ยงเมนูเนื้อสัตว์แปรรูป เช่นไส้กรอก เบคอน ปูอัด 

2.ลองเลือกสัดส่วนอาหารให้ได้ปริมาณผักมากกว่าเนื้อ เช่น  เลือกเมนูผัก 4 ไม้ ร่วมกับเมนูเนื้อสัตว์ 2 ไม้  อาจเพิ่มข้าวโพดปิ้ง หรือเมนูเห็ดเพิ่มเติมหากว่ายังรู้สึกไม่อิ่ม

3.ระวังการเติมเครื่องปรุงที่มากเกินไป แม้ว่าหม่าล่าเองจะมีโซเดียมไม่มาก แต่บางร้านค้าอาจมีการเพิ่มเกลือเข้าไปด้วย ทำให้มีโซเดียมเพิ่มขึ้นเกินความจำเป็น ขณะเดียวกันหม่าล่าที่มากเกินไปอาจกระตุ้นให้ผู้ที่มีปัญหาแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้แปรปรวนหรือโรคเกี่ยวกับลำไส้นั้น อาการกำเริบได้ จึงควรหลีกเลี่ยงและใช้วิธีเดียวกันกับการหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดในผู้ที่มีความเสี่ยงจากการบริโภค

4.เลือกรับประทานน้ำเปล่า หรือโซดาเปล่า เป็นเครื่องดื่มแทนน้ำหวานหรือน้ำอัดลม 

เข้าร้านหม่าล่าครั้งต่อไป ลองนำวิธีต่างๆ เหล่านี้ไปใช้กันดูนะครับ 


พศิษฐ์ คณาศิริชัยนนท์ 
วิทยากรโภชนาการเครือข่ายคนไทยไร้พุง

อ้างอิง
1)เฟซบุ๊คแฟนเพจ “กินก่อนตาย” โดยเจ้าของเพจมีความหลงใหลในมนต์เสน่ของอาหารทั่วโลก โปรดปรานเป็นพิเศษกับอาหารอินเดีย อาหารจีนและอาหารพื้นถิ่นหลาย ๆ ท้องที่
2)Diacono, Mark (13 December 2010). "How to grow Szechuan pepper and make Chinese five spice". the Guardian. (20 March 2018)
3)Katzer, Gernot. "Spice Pages: Sichuan Pepper (Zanthoxylum, Szechwan peppercorn, fagara, hua jiao, sansho 山椒, timur, andaliman, tirphal)
4)Wijaya, CH; I Triyanti; A Apriyantono (2002). "Identification of Volatile Compounds and Key Aroma Compounds of Andaliman Fruit (Zanthoxylum acanthopodium DC)". Food Science and Biotechnology. 11 (6): 680–683
 


บทความ/สื่อที่เกี่ยวข้อง

เคล็ดลับ กินให้สุขภาพดี๊ดี ตอน อาหารเกาหลี
02 ก.ย. 2566

เคล็ดลับ กินให้สุขภาพดี๊ดี ตอน อาหารเกาหลี

บทความอาหาร
เคล็ดลับ กินให้สุขภาพดี๊ดี ตอนอาหารญี่ปุ่น
18 ก.ค. 2566

เคล็ดลับ กินให้สุขภาพดี๊ดี ตอนอาหารญี่ปุ่น

บทความอาหาร
บอกต่อเคล็ดลับการใช้น้ำมันหอย ใช้แต่น้อย อร่อยแบบสุขภาพดี
22 ส.ค. 2566

บอกต่อเคล็ดลับการใช้น้ำมันหอย ใช้แต่น้อย อร่อยแบบสุขภาพดี

บทความอาหาร